2019-06-29 15:30:06
เมนูไขมันต่ำทำให้เพิ่มแรงขยันได้
ผลการศึกษาล่าสุดจากวารสาร Sleep พบว่า อาหารที่มีไขมันสูงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดี อายุ 18-56 ปี ซึ่งมีน้ำหนักเกณฑ์ปกติและไม่มีปัญหาการนอนหลับ มีอาการง่วงนอนและอ่อนเพลียระหว่างวันมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูง
อีกกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า อาหารไขมันสูงมีผลต่อความขี้เกียจอย่างชัดเจน คืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Physiology and Behavior โดยก่อนเริ่มทดลองได้ทำการฝึกหนูทุกตัวให้กดคันโยกแล้วจะได้รับอาหารและน้ำเป็นรางวัล จากนั้นทดลองป้อนอาหารที่ต่างกัน โดยให้หนูกลุ่มแรกกินอาหารฟาสต์ฟู้ด(ไขมันสูง) อีกกลุ่มกินอาหารปกตินาน 3 เดือน ปรากฏว่า หนูกลุ่มที่กินอาหารไขมันสูงกดคันโยกน้อยลงหยุดพักนานขึ้นกว่าหนูกลุ่มที่กินอาหารปกติถึง 2 เท่า
ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เส้นหมี่ กินดีไม่มีง่วง
หากชอบกินข้าวหรืออาหารเส้น มื้อกลางวันแนะนำให้กินข้าวกล้องหรือเส้นโฮลวีต ห้ามกินข้าว ข้าวเหนียว หรือขนมปังขัดขาวเป็นอันขาด มิฉะนั้นอาจต้องนั่งสัปหงกตลอดบ่าย
เพราะอาหารประเภทข้าวและแป้งขัดขาว มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (High Glycemic Index) ทำให้หลังกินระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายจึงหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ไปเผาผลาญเป็นพลังงาน
เมื่อระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นหลังกิน แต่ไม่ทันไรก็กลับอ่อนเพลียไปง่ายๆ
เห็นได้ชัดในผู้ที่ชอบกินข้าวขัดขาว ข้าวเหนียวขัดขาว ขนมปังขัดขาว หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงปริมาณมากในมื้อกลางวัน ที่หลังกินหรือดื่มจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่พอตกบ่ายกลับหมดเรี่ยวแรงจนอยากกินของหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานเพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือดอีก
หากกินอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงซ้ำก็เข้าสู่วงจรกระตุ้นร่างกายด้วยน้ำตาลจนอ่อนเพลียตามเดิม ที่ร้ายยิ่งกว่าคืออาจทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้คราวนี้ไม่ได้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนเฉพาะช่วงบ่าย แต่อาจมีอาการไปตลอดทั้งวัน
อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ น้ำตาลซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลสูงที่สุดคือ 100% ข้าวขัดขาวและขนมปังขาวมีค่าดัชนีน้ำตาล 71% ส่วนอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำที่ควรกิน คือ ข้าวกล้อง มีค่าดัชนีน้ำตาล 55% ขนมปังโฮลวีตและเส้นหมี่มีค่าดัชนีน้ำตาล 53%
อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ร่างกายจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วจนเป็นเหตุของอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
อาหารสีเขียว นมถั่วเหลืองแก้อ่อนเพลียเรื้อรัง
ผักใบเขียวและนมถั่วเหลืองเป็นอาหารที่บำบัดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ดีเพราะมีธาตุเหล็กสูง โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าถั่วเหลืองมีธาตุเหล็กมากกว่าถั่วชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วแดง หรือถั่วดำ
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงช่วยป้องกันอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงที่ขาดธาตุเหล็ก จากการสูญเสียเลือดในปริมาณมากระหว่างมีประจำเดือน
ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ช่วยลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะทั่วร่างกาย หากขาดธาตุเหล็กก็เท่ากับขาดออกซิเจน จึงส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
น้ำอาร์ซีเพิ่มความสดชื่น ตื่นตัว
เครื่องดื่มที่มีวิตามินบีสูง ส่งตรงกลูโคสสู่สมอง เพิ่มความสดชื่น ตื่นตัวได้ดี นาทีนี้ต้องยกให้น้ำอาร์ซีค่ะ
ผู้คิดค้นสูตรน้ำอาร์ซีคือ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ทำจากธัญพืชไม่ขัดสีถึง 9 ชนิด ได้แก่ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย ลูกบัว ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง(ข้าวมันปู) และข้าวโอ๊ต เพราะอุดมด้วยวิตามินบีและกลูโคสคุณภาพซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสารสื่อประสาทในสมอง จึงช่วยให้สมองสดชื่น ตื่นตัวกระฉับกระเฉง และว่องไว
สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งอังกฤษระบุว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของข้าวแป้ง และธัญพืชไม่ขัดสีอุดมด้วยวิตามินบี ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท ดังนั้น ยิ่งกินธัญพืชไม่ขัดสีหลากชนิด ร่างกายยิ่งได้รับวัตถุดิบชั้นดีไปช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูระบบต่างๆ ช่วยป้องกันและทำให้หายจากอาการอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวันได้อย่างรวดเร็ว
ขอบคุณ : นิตยสารชีวจิต